พะเยา เป็นเมืองประวัติศาสตร์ เดิมมีชื่อว่า เมืองภูกามยาว หรือ พยาว มีเอกราชสมบูรณ์ มีกษัตริย์ปกครองสืบราชสันติวงศ์มา ปรากฎตามตำนานเมืองพะเยา กษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์เมืองภูกามยาว มีดังนี้
|
ขุนจอมธรรม
ขุนจอมธรรม เป็นพระราชโอรสของขุนเงินหรือลาวเงิน กษัตริย์ผู้ครองนครเงินยางเชียงแสน เมื่อ พุทธศักราช 1602 (จุลศักราช 421) พ่อขุนเงินหรือลาวเงิน ดำริให้พระราชโอรส 2 องค์ คือ ขุนชิน ให้อยู่ในราชสำนักครองนครเงินยางเชียงแสน และ ขุนจอมธรรม โอรสองค์ที่ 2ให้ปกครองเมืองภูกามยาว ซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ ขุนจอมธรรมพร้อมข้าราชการบริวาร ขนเอาพระราชทรัพย์ บรรทุกม้า พร้อมพลช้าง พลม้า ตามเสด็จถึงเมืองภูกามยาว และตั้งรากฐานเมืองใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณเมืองหนึ่ง นามว่า “สีหราช” อยู่เชิงเขาชมภูหางดอยด้วน ลงไปจรดฝั่งแม่น้ำสายตา มีสัณฐานคล้ายลูกน้ำเต้า มีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางตะวันตก (อันหมายถึงกว๊านพะเยาในปัจจุบัน) และทางทิศอีสาน คือ หนองหวีและหนองแว่น
ต่อมารวมไพร่พลหัวเมืองต่าง ๆ ได้ 80,000 คน จัดแบ่งได้ 36 พันนา นาละ 500 คน มีเขตแคว้นแดนเมืองในครั้งกระโน้น ดังนี้ ทิศบูรพา จรดขุนผากาดจำบอน ตาดม้าน บางสีถ้ำ ไทรสามต้น สบห้วยปู น้ำพุง สบปั๋ง ห้วยบ่อทอง ตาดซาววา กิ่วแก้ว กิ่วสามช่อง มีหลักหินสามก้อนฝังไว้ กิ่วฤาษี แม่น้ำสายตา กิ่วช้าง กิ่วง้ม กิ่วเปี้ย ดอยปางแม่นา ทิศตะวันตก จรดโป่งปูดห้วยแก้วดอยปุย แม่คาว ไปทางทิศใต้ กิ่วรุหลาว ดอกจิกจ้อง ขุนถ้ำ ดอยตั่ง ดอยหนอก ผาดอกวัว แซ่ม่าน ไปจรดเอาดอยผาหลักไก่ทางทิศหรดี ทิศใต้สุดจรดนครเขลางค์และนครหริภุญชัย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่อแดนขรนคร (เชียงของ) มีเมืองในอำนาจปกครอง คือ เมืองงาว เมืองกาว สะเอียบ เชียงม่วน เมืองเทิง เมืองสระ เมืองออย สะสาว เมืองดอบ เชียงคำ เมืองลอ เมืองเชียงแลง เมืองหงาว แซ่เหียง แซ่ลุล ปากบ่อง เมืองป่าเป้า เมืองวัง แซ่ซ้อง เมืองปราบ แซ่ห่ม ขุนจอมธรรมปกครองไพร่ฟ้าประชาชน โดยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และยึดมั่นในบวรพุทธศาสนา บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองด้วยโภคสมบัติ ฟ้าฝนตกตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน ไม่มีสงคราม เจ้าประเทศราชต่าง ๆ มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน ทรงสั่งสอนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยหลักธรรม 2 ประการ คือ อปริหานิยธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม 1 ประเพณีธรรมขนบธรรมเนียมอันเป็นระเบียบแบบแผนอันดีงานของครอบครัว 1 ขุนจอมธรรมครองเมืองพะเยาได้ 2 ปี มีโอรส 1 พระองค์ โหรถวายคำพยากรณ์ว่า ราชบุตรองค์นี้จะเป็นจักรพรรดิราชปราบชมพูทวีป มีบุญญาธิการมากเวลาประสูติ มีของทิพย์เกิดขึ้น 3 อย่าง คือ แส้ทิพย์ พระแสงทิพย์ คณโฑทิพย์ จึงให้พระนามว่า “ขุนเจื๋อง” ต่อมาอีก 3 ปี ได้ราชบุตรอีกพระนามว่า “ขุนจอง” หรือ “ชิง” ขุนจอมธรรมปกครองเมืองพะเยาได้ 24 ปี พระชนมายุได้ 49 พรรษา
|
|
พระยาเจื๋องธรรมมิกราช หรือ ขุนเจื๋อง
พระยาเจื๋องธรรมมิกราช หรือ ขุนเจื๋อง ประสูติเมื่อปีพุทธศักราช 1641 เป็นโอรสของขุนจอมธรรม เมื่อเจริญวัยขึ้น ทรงศึกษาวิชายุทธศาสตร์ เช่น วิชาดาบ มวยปล้ำ เพลงชัย จับช้าง จับม้า และเพลงอาวุธต่าง ๆ เมื่อพระชนมายุได้ 16 ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองน่าน เจ้าผู้ครองเมืองน่าน เห็นความสามารถแล้วพอพระทัย ยกธิดาชื่อ “จันทร์เทวี” ให้เป็นชายาขุนเจื๋อง พระชนมายุได้ 17 ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองแพร่ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่พอพระทัย จึงยกธิดาชื่อ “นางแก้วกษัตริย์” ให้เป็นชายา พระราชทานช้าง 200 เชือก ขุนเจื๋องครองราชย์สืบแทนขุนจอมธรรมเมื่อพระชนมายุ 24 ปี ครองเมืองได้ 6 ปี มีข้าศึกแกว (ญวน) ยกทัพมาประชิดนครเงินยางเชียงแสน ขุนชินผู้เป็นลุง ได้ส่งสาส์นขอให้ส่งไพร่พลไปช่วย ขุนเจื๋องได้รวบรวบรี้พลยกไปชุมนุมกันที่สนามดอนไชยหนองหลวง และเคลื่อนทัพเข้าตีข้าศึกแตกกระจัดกระจายไป เมื่อขุนชินทราบเรื่องก็เลื่อมใสโสมนัสยิ่งนัก ทรงยกธิดาชื่อ “พระนางอั๊วคำคอน” ให้และสละราชสมบัตินครเงินยางเชียงแสนให้ขุนเจื๋องครองแทน เมื่อขุนเจื๋องได้ครองราชเมืองเงินยางแล้ว ทรงพระนามว่า “พระยาเจื๋องธรรมมิกราช” ได้มอบสมบัติให้โอรสชื่อ“ลาวเงินเรือง” ครองเมืองพะเยาแทน หัวเมืองใหญ่น้อยเหนือใต้ยอมอ่อนน้อม ได้ราชธิดาแกวมาเป็นชายานามว่า “นางอู่แก้ว” ขุนเจื๋องมีโอรส 3 พระองค์คือ ท้าวผาเรือง ท้าวคำห้าว และท้าวสามชุมแสง ต่อมายกราชสมบัติเมืองแกวให้ท้าวผาเรือง ให้ท้าวคำห้าวไปครองเมืองล้านช้าง ท้าวสามชุมแสงไปครองเมืองน่าน ต่อมาได้โยธาทัพเข้าตีเมืองต่างๆ ที่ยังไม่ยอมสวามิภักดิ์ ทรงชนช้างกับศัตรูเสียทีข้าศึกเพราะชราภาพ จึงถูกฟันคอขาดและสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง พวกทหารจึงนำพระเศียรไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์เมืองเหรัญนครเชียงแสน ขุนเจื๋องครองราชย์สมบัติครองแคว้นล้านนาไทยได้ 24 ปี ครองเมืองแกวได้ 17 ปี รวมพระชนมายุ 67 ปี ฝ่ายท้าวจอมผาเรืองราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติเมืองพะเยาได้ 14 ปี ก็ถึงแก่พิราลัย ขุนแพงโอรสครองราชย์ แทนได้ 7 ปี ขุนซอง ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า แย่งราชสมบัติ และได้ครองราชย์เมืองพะเยาต่อมาเป็นเวลา 20 ปี และมีผู้ขึ้นครองราชสืบต่อมา
|
|
พ่อขุนงำเมือง
พ่อขุนงำเมือง เป็นกษัตริย์เมืองพะเยาองค์ที่ 9 นับจากพ่อขุนจอมธรรม ประสูติเมื่อพุทธศักราช 1781 เป็นราชบุตรของพ่อขุนมิ่งเมือง สืบเชื้อสายมาจากท้าวจอมผาเรือง เมื่อพระชนมายุ 14 ปี พระราชบิดาส่งไปศึกษาเล่าเรียนศิลปะศาสตร์เทพในสำนักเทพอิสิตนอยู่ภูเขาดอยด้วน 2 ปี จึงจบการศึกษา เมื่อพระชนมายุได้ 16 ปี พระราชบิดาส่งไปศึกษาต่อ ขอถวายตัวอยู่ในสำนักสุกันตฤาษี ณ กรุงละโว้ (ลพบุรี) จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับ พระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย สนิทสนมผูกไมตรีต่อกันอย่างแน่นแฟ้น ศึกษาศิลปศาสตร์ร่วมครูอาจารย์เดียวกันเป็นสหายกันตั้งแต่นั้นมา ทรงเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์เช่นเดียวกับพระร่วงเจ้า เมื่อเรียนจบก็เสด็จกลับเมืองพะเยา ปีพุทธศักราช 1310 พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ จึงครองราชย์สืบแทน ตำนานกล่าวถึงพ่อขุนงำเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า ทรงเป็นศรัทธาเลื่อมใสใน พระพุทธศาสนา ไม่ชอบสงคราม ปกครองบ้านเมืองด้วยความเที่ยงธรรม ผูกไมตรีจิตต่อประเทศราช และเพื่อนบ้าน ขุนเม็งรายเคยคิดยกทัพเข้าบดขยี้เมืองพะเยา พ่อขุนงำเมืองล่วงรู้เหตุการณ์ ก่อนแทนที่จะยกทัพเข้าต่อต้าน ได้สั่งไพร่พลให้อยู่ในความสงบ สั่งให้เสนาอำมาตย์ออกต้อนรับโดยดี เชิญขุนเม็งรายเสวยพระกระยาหารและเลี้ยงกองทัพให้อิ่ม ขุนเม็งรายจึงเลิกการทำสงคราม แต่นั้นมา พ่อขุนงำเมือง จึงยกเมืองปลายแดน ซึ่งมีเมืองพาน เมืองเชี่ยงเคี่ยน เมืองเทิง และเมืองเชียงของ ให้แก่พระเจ้าเม็งราย และทำสัญญาปฏิญาณต่อกันจะเป็นมิตรต่อกันตลอดไป
ฝ่ายพระยาร่วงซึ่งเป็นสหายคนสนิทก็ได้ถือโอกาสเยี่ยมพ่อขุนงำเมืองปีละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่เสด็จในฤดูเทศกาลสงกรานต์ ได้มีโอกาสรู้จักขุนเม็งรายทั้ง 3 องค์ ได้ชอบพอเป็นสหายกัน เคยหันหลังเข้า พิงกันกระทำสัจจปฏิญาณแก่กัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำขุนภู ว่าจะไม่ผูกเวรแก่กัน จะเป็นมิตรสหายกัน กรีดโลหิตออกรวมกันขันผสมน้ำ ทรงดื่มพร้อมกัน (ภายหลังแม่น้ำนี้ได้ชื่อว่า แม่น้ำอิง) พ่อขุนงำเมืองเป็นผู้ทรงอุปฐากพระธาตุจอมทองซึ่งตั้งอยู่บนดอยจอมทอง ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองพะเยา ที่ประชาชนสักการะบูชามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ พ่อขุนงำเมืองสิ้นพระชนมเมื่อปีพุทธศักราช 1816 โอรส คือ ขุนคำแดง สืบราชสมบัติแทน ขุนคำแดงมีโอรสชื่อ ขุนคำลือ ซึ่งครองราชสมบัติแทนต่อมา
|
|
เมืองพะเยาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นล้านนาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 (หลัง พ.ศ. 1800 ) ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพระยาคำฤาบุตรพระยาคำแดง (สุวรรณสามราช) เป็นเจ้าเมืองครองเมืองพะเยาเป็นลำดับที่ 14 ตั้งแต่ขุนจอมธรรมเป็นต้นมา และเป็นลำดับที่ 3 ตั้งแต่พญางำเมืองมา พญาคำฟูแห่งเมืองเชียงแสน คบคิดกับเจ้าเมืองน่านทำศึกขนาบเมืองพะเยา เข้าสมทบกองทัพกันไปรบเมืองพะเยา ครั้งนั้นกองทัพพระยาคำฟูเข้าเมืองพะเยาได้ก่อน ได้ผู้คนช้างม้าและทรัพย์สิ่งของ เป็นอันมาก ก็มิได้แบ่งปันให้พระยากาวน่าน พระยากาวน่านขัดใจจึงยกกองทัพเข้ารบกับพระยาคำฟู พระยาคำฟูเสียที ล่าทัพหนีกลับมาเมืองเชียงแสน กองทัพน่านยกเลยไปตีปล้นเอาเมืองฝางได้ พระยาคำฟูก็ยกกองทัพใหญ่ไปตีกองทัพน่านยังเมืองฝาง กองทัพเมืองน่านสู้กำลังไม่ได้ก็เลิกถอยกลับไปเมืองน่าน พระยาคำฟูก็เลิกทัพกลับมาเมืองเชียงแสน นับแต่นั้นมา เมืองพะเยาก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา แล้วถูกลดฐานะเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่กับเมืองเชียงราย |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น